มกราคม 14, 2555

@ Green D.I.Y. ของใช้ก้านมะพร้าว : ภูมิปัญญาท้องถิ่น


ยังจำได้ดี ตอนสมัยเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม เรียนหนังสืออยู่บ้านนอกต่างจังหวัด คุณครูให้สานตะกร้าที่ทำจากก้านมะพร้าว โดยเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ภายในครอบครัว เพื่อสอนให้เรารู้จักประหยัด หัดทำอะไรได้ด้วยตัวเอง พอทำส่งคุณครูแล้วก็นำมาให้คุณพ่อคุณแม่ไว้ใช้ ซึ่งท่านก็เอาไว้ใส่ข้าวของเครื่องใช้ไปทำบุญที่วัด ในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ฯลฯ เชื่อมั๊ย ? ตะกร้าก้านมะพร้าว ที่ประดิดประดอยขึ้นมาด้วยมือเรา ทนดีมาก อยู่ให้เราได้ใช้นานเกือบ 10 ปี
พอเทคโนโลยีเจริญ ของใช้สอยซึ่งทำด้วยวัตถุดิบที่มีประโยชน์ในท้องถิ่นก็ถูกเลือนหาย กลายเป็นความสะดวกสบายใส่ข้าวของด้วยถุงหิ้วก๊อบแก๊บ หรือตะกร้าพลาสติก พอใช้ไม่ได้ก็ทิ้งขว้างไป  ซึ่งก็ไม่ใช่แค่สองสิ่งนี้เท่านั้น ยังมีเครื่องใช้อื่นๆ ที่เป็นวัสดุย่อยสลายยากอีกมากมาย ที่ทิ้งๆ ไป กลายเป็นขยะล้นประเทศ ล้นโลก  จนต้องมาย้อนอดีตให้ช่วยใช้สิ่งของเหล่านี้ให้น้อยๆ ลงบ้าง ให้ใช้ซ้ำ หรือกลับมาใช้ใหม่ ถ้าเป็นทางการก็คือ การใช้หลัก 3R คือ Reduce (การลดการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่ ) หากปฏิบัติตามแล้วก็จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ต้องประชาสัมพันธ์รณรงค์ลดโลกร้อน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาโลกให้เป็นสีเขียว จนเกิดกระแสการ  D.I.Y. หรือ Green D.I.Y. ตามหลังรณรงค์ลดโลกร้อนมาติดๆ เพื่อปลูกฝังทุกๆ คนหันมาประดิษฐ์ของใช้ด้วยตัวเราเอง จะทำจากของเหลือใช้หรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยๆ ก็ได้ช่วยกันรักษ์โลก แถมยังประหยัดเข้ากับยุคสมัยเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย



การ
Green D.I.Y. หากเรามีไอเดีย มีแนวคิดดีๆ ก็สามารถประดิษฐ์ของใช้ ทำขึ้นมาด้วยตัวของเราเองได้หมด ซึ่ง 1 ในหลายๆ สิ่งที่ Green D.I.Y. ได้ก็คือ เครื่องใช้ในครัวเรือนทำขึ้นมาจากก้านมะพร้าว ที่ดูเหมือนจะเป็น Green D.I.Y. แบบบ้านๆ สักนิด เพราะต้นมะพร้าวส่วนใหญ่จะปลูกกันในท้องถิ่นมากกว่า เมื่อนำมะพร้าวไปประกอบอาหารแล้ว ส่วนที่เหลืออย่างกะลามะพร้าว กิ่ง ก้าน ใบ ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะก้านมะพร้าวก็นำมาจักสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตะกร้า กระจาดผลไม้ โตกใส่อาหาร ฝาชี กระเช้าใส่ขวดเครื่องดื่ม หมวก พาน ฯลฯ หากท้องถิ่นหรือชุมชนไหนมีอาชีพทำสวนต้นมะพร้าว ก็สามารถนำส่วนที่เหลือมาต่อยอดจักสานเป็นงานหัตถกรรม สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวและชุมชนอีกด้วย
จะเห็นว่าปัจจุบันเครื่องจักสานก้านมะพร้าวได้กลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  สินค้า OTOP ภูมิปัญญาชาวบ้านที่รวมตัวกันทำขึ้นมา โดยนำมาจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  ทั้งในจังหวัดต่างๆ หรือกรุงเทพฯ ซึ่งมักจะเห็นจัดงานแสดงที่ “อิมแพคเมืองทองธานี” อยู่เนืองๆ
หากไม่ D.I.Y. ด้วยตัวเอง ก็ขอให้ช่วยๆ กันสนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งทำด้วยวัตถุดิบที่เหลือใช้ ที่เปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยและร่วมมืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น